วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

วัคซีนโควิด จุฬาคอฟ19 พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันเทียบไฟเซอร์ จากผลทดสอบอาสาสมัครระยะที่ 1

วัคซีนโควิด จุฬาคอฟ19 พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันเทียบไฟเซอร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาฯ ที่ชื่อว่า “จุฬาคอฟ 19” ที่มีการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร 36 คน พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ อย่างไฟเซอร์-ไบออนเทค และสามารถยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้ 4 สายพันธุ์

ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ การวัดประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทดสอบในคน ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ได้ประสานเครือข่ายวิชาการทางการแพทย์ในมาเลเซีย ส่งตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในแต่ละระยะ ส่งมาเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันกับวัคซีนจุฬาคอฟ 19

เมื่อเดือน มิ.ย. โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ระบุว่า ได้ตั้งเป้าการวิจัยและผลิตวัคซีน จุฬาคอฟ19 ในการเป็นวัคซีนเข็มสาม หรือเข็มกระตุ้นภูมิสำหรับคนไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นจริงในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2565

ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาลงการณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยความคืบหน้าของการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร อายุ 18-55 ปี ในวันนี้ (16 ส.ค.) ระบุว่า วัคซีนจุฬาคอฟ19 กระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในไทยอยู่ขณะนี้

การตรวจทดสอบผลประสิทธิภาพของวัคซีนจุฬาคอฟ19 มีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ 3 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

จากการตรวจวัดภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่อยู่ในอาสาสมัคร โดยศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถยับยั้งปุ่มหนามโปรตีนของไวรัสได้หรือไม่ จากการวิจัยพบว่า วัคซีนจุฬาคอฟ19 มีระดับเปอร์เซ็นต์ในการยับยั้งไวรัสเท่ากับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกัน

“จุฬาคอฟ19 ตัวเลขอยู่ที่ 94% เท่ากับไฟเซอร์ 94%” ศ.นพ. เกียรติ กล่าว พร้อมเสริมว่า จุดตัดประสิทธิภาพวัคซีน ถ้าตัวใดเกิน 68% แปลว่า “น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้”

ที่มา www.bbc.com

ให้คะแนนเนื้อหานี้
[Total: 0 Average: 0]